วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ความสำคัญและความเป็นมา

1.1 จุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์

สมัยก่อนครอบครัวชาวชนบททั่วไปที่มีเด็กทารกจะนำผ้าขาวม้ามาผูกเป็นเปลให้เด็กนอนเมื่อเด็กนอนในเปลและไกวเปล เด็กจะนอนนานไม่ร้องโยเย จึงมีความเชื่อว่าเด็กคงมีความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเหมือนอยู่ในท้องแม่

ย้อนไปประมาณเจ็ดสิบปีที่แล้ว นางฉลวย สังขรัตน์ ชาวบ้านบ้านแม่พระประจักษ์ หมู่ 4 ตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้นำหญ้า หรือผักตบชวา ที่มีอยู่มากมายตามแม่น้ำลำคลอง นำมาตากให้แห้ง จากนั้นนำมาถักเป็นเปลกล่อมเด็ก หรือใช้สำหรับนอนพักผ่อนของคนในครอบครัว แต่เปลที่ทำจากหญ้าหรือผักตบชวา เมื่อได้รับความชื้นจะขึ้นรา และผุง่าย เมื่อใช้เป็นเวลานานจะสกปรก ทำความสะอาดไม่ได้ นางฉลวย จึงเปลี่ยนวัตถุดิบจากผักตบชวา หรือหญ้า มาเป็นปอ ป่าน ซึ่งมีเส้นใยที่เหนียวกว่า ใช้งานได้นาน แต่ทำให้ระคายเคืองผิว ไม่นุ่มเหมือนเปลที่ทำจากผักตบชวา เปลของนางฉลวย จึงมีทั้งเปลที่ทำจากผักตบชวาและทำจากปอ

1.2 แนวคิดซึ่งได้มาในตัวผลิตภัณฑ์

เปลที่ทำจากผักตบชะวา จะมีความนุ่มนวลแต่ใช้งานได้ไม่นาน ส่วนเปลที่ทำจากปอหรือป่านสามารถใช้งานได้นาน นางฉลวย สังขรัตน์ จึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตจากผักตบชวา หรือ ปอ มาเป็นอย่างอื่นที่มีคุณสมบัติคงทน ใช้งานได้นาน มีความนุ่ม ไม่ระคายผิว จนกระทั่งวันหนึ่ง ในขณะที่กำลังแจวเรืออยู่นั้น นางฉลวยได้เหลือบไปเห็นหูแจวที่ทำมาจากเส้นด้ายที่พันกันหลายๆเส้น เป็นเกลียว ใช้งานมานานนับปียังไม่ขาดหรือผุกร่อน จึงเกิดความคิดว่าน่าจะลองนำเส้นด้ายชนิดเดียวกับที่ทำหูแจวมาถักเป็นเปล เมื่อคิดได้ดังนั้น จึงไปหาซื้อเส้นด้าย หาอยู่นานก็ไม่สามารถหาซื้อได้ จนกระทั่งบังเอิญไปพบกองเศษด้ายที่โรงงานทอผ้านำมาทิ้งไว้ที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน เป็นเส้นด้ายคล้ายกับที่ทำหูแจวเรือ จึงนำเส้นด้ายดังกล่าวมาคัดเลือกแล้วถักเป็นเปลที่มีลักษณะสวยงาม มีสีสัน มีความนุ่ม สามารถจำหน่ายได้เพื่อเป็นอาชีพเสริมเมื่อว่างเว้นจากการทำนา

ชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ จะเรียกชาวไทยที่นับถือศาสนาคริสต์ว่า “ญวน” เนื่องจากชาวบ้านแม่พระประจักษ์ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ จึงได้ตั้งชื่อว่า “เปลญวน”


จากการศึกษาทั้งเอกสารและจากการสัมภาษณ์เจ้าของภูมิปัญญาซึ่งได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ คือ นางสาวเรือนแก้ว สังขรัตน์ ทำให้ทราบว่า ภูมิปัญญาในการทำเปลญวนมีความเกี่ยวข้องกับ วิถีชีวิตที่สำคัญมาก อีกทั้งเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว รองลงมาจากการทำนา ซึ่งขณะนี้กำลังจะสูญหาย เพราะขาดการสนใจจากเด็กรุ่นลูก รุ่นหลาน อีกทุ้งเงินทุนหมุนเวียนภายในกลุ่มมีจำนวนจำกัด ภาครัฐและภาคเอกชนขาดความสนใจในการสนับสนุนงบประมาณ การประชาสัมพันธ์เผยแพร่และการเอาใจใส่ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอด สืบสาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ จึงได้ทำการสืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำ “เปลญวน” บ้านแม่พระประจักษ์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ภูมิปัญญาต่อไป

วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญา การทำ “เปลญวน” บ้านแม่พระประจักษ์
2.2เพื่อวิเคราะห์คุณค่าภูมิปัญญา และแนวทางการนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน
2.3 เพื่อศึกษากระบวนการ ขั้นตอนการทำเปลญวนและการตลาด

ขอบเขตของการศึกษา

ในการศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาการทำ เปลญวน บ้านแม่พระประจักษ์ มุ่งศึกษาข้อมูลเชิงลึก ด้านความเป็นมา ด้านกระบวนการทำเปลญวน ขั้นตอนการทำ แหล่งวัตถุดิบ การตลาด แนวทางการพัฒนาและการอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญา

วิธีการศึกษา

โดยการสัมภาษณ์เจ้าของภูมิปัญญา นางฉลวย สังขรัตน์ และนางสาวเรือนแก้ว สังขรัตน์ ตลอดจนเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องในการทำเปลญวน

ประโยชน์ที่จะได้รับ

5.1ได้ทราบความเป็นมา กระบวนการ ขั้นตอน การทำเปลญวน
5.2ได้ทราบคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต และแนวทางการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู ภูมิปัญญา

นิยามศัพท์เฉพาะ

เปลญวน หมายถึง เปลญวนบ้านแม่พระประจักษ์ อำเภอสองพี่น้อง
ญวน หมายถึง คนไทยเชื้อสายญวน หรือกลุ่มชาติพันธุ์ญวน ที่หมู่ 4
บ้านแม่พระประจักษ์ ตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี